เฟมโตเลสิก
เฟมโตเลสิก
ปัจจุบันเรามีทางเลือกที่ดีขึ้นโดยใช้ Femtosecond Laser แยกชั้นกระจกตาแทน จึงเป็นที่มาของเลสิกไร้ใบมีด เป็นทางเลือกที่ปลอดภัย และเพิ่มความแม่นยำของการรักษา สำหรับผู้มีปัญหาสายตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียง
ขั้นตอนการทำเลสิคมี 2 ขั้นตอนหลักๆ เริ่มจากการแยกชั้นกระจกตาโดยใช้ Femtosecond Laser เปิดขึ้นเป็นฝาบาง ๆ โดยเหลือขั้วไว้ด้านหนึ่ง แล้วจึงใช้ Excimer Laser ปรับความโค้งกระจกตาเพื่อแก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติ
10 ข้อดีของการแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ของเลสิคไร้ใบมีด (FemtoLASIK)
FS laser ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2001 และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีการนำมาใช้แยกชั้นกระจกตาสำหรับการทำผ่าตัดเลสิคแทนที่การแยกชั้นกระจกตาแบบดั้งเดิมที่ใช้ microkeratomes เนื่องจากการแยกชั้นของกระจกตาด้วย FS laser มีข้อได้เปรียบ เมื่อเทียบกับที่ใช้ microkeratomesแบบดั้งเดิมหลายประการ ดังนี้
1. ลดอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการแยกชั้นกระจกตา ได้แก่ ความผิดปกติของฝากระจกตาที่แยกชั้น (corneal flap) เช่น ฝากระจกตาทะลุ (buttonholes) ฝากระจกตาหลุดออกทั้งหมด (free caps) ฝากระจกตาที่ตัดได้ไม่เรียบหรือไม่สม่ำเสมอ (irregular cuts) หรือมีรอยถลอกที่พื้นผิวของฝากระจกตา (epithelial abrasions) เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มีผลต่อค่าความชัดของสายตาหลังการผ่าตัด
2. เพิ่มความแม่นยำและกำหนดความหนาของ flapได้ดีกว่า
สามารถเลือกลักษณะของ flap ได้มากกว่า เช่น ขนาดและความหนา มุมของการตัดที่ขอบฝากระจกตา (side cut angle) ตำแหน่งและความยาวของโคนฝากระจกตา (hinge) เป็นต้น
3. สามารถตัด flap ได้บางกว่า คือ 90-120 ไมครอน ในขณะที่ microkeratome แบบดั้งเดิม สามารถตัด flap ได้บางสุดเพียง 130-150 ไมครอน จึงทำให้ผู้ที่มีสายตาผิดปกติมากและกระจกตามีความหนาน้อย ที่ไม่สามารถรับการทำผ่าตัดเลสิคด้วย microkeratomesแบบดั้งเดิมได้ มีโอกาสที่จะได้รับการทำผ่าตัดเลสิคโดยใช้ FS laser ได้อย่างปลอดภัย
4. สามารถลดโอกาสการเกิดสายตาเอียงที่เกิดใหม่ภายหลังการทำเลสิค ( induced astigmatism) ได้มากกว่า
ในระหว่างการทำผ่าตัดแยกชั้นกระจกตา หากเครื่องมือที่ใช้จับยึดลูกตามีการสูญเสียแรงดูด(suction loss) จะสามารถวาง suction ring ใหม่ได้ทันที และแยกชั้นกระจกตาในความหนาเท่าเดิมได้ ซึ่ง microkeratomeไม่สามารถทำได้
5. ภาวะตาแห้งหลังผ่าตัดน้อยกว่า
6. สามารถควบคุมมุมของขอบฝากระจกตา (angulation of the flap edge) ซึ่งมีผลต่อ ความแข็งแรง รวมทั้งการหายของแผล และป้องกันการงอกของเยื่อบุผิว (epithelial ingrowth) แทรกเข้าไปใต้ฝากระจกตาได้ดีกว่า
7. หลังผ่าตัด มี contrast sensitivity ดีกว่า ทำให้ภาพคมชัดมากกว่า
8. การติดแน่นของ flap แข็งแรงกว่า ทำให้มีโอกาสเกิด flap เคลื่อนที่หลังการผ่าตัด จากอุบัติเหตุต่างๆ ได้น้อยกว่า
9. ความดันลูกตาเพิ่มน้อยกว่า จึงทำให้ปลอดภัยต่อขั้วประสาทตามากกว่า
10. เกิดการติดเชื้อหลังผ่าตัดน้อยกว่า โดยการแยกชั้นกระจกตาด้วย microkeratome มีโอกาสติดเชื้อมากกว่า FS laser ถึง 2.4 เท่า
|